หลักเกณฑ์/คะแนน ในการสอบซ่อม
การสอบซ่อม..
.
สอบซ่อมได้แค่ 3 คะแนน ทำไมเกรดยังขึ้นเป็น 1 .. ?
ระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการสอบซ่อม คือ
ก. หนังสือ “คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555)” ปกสีเลือดหมู ที่ส่งให้ กศน.อำเภอทุกแห่ง เมื่อ ธ.ค.55
- หน้า 37 ข้อ 1.4 กำหนดว่า “การประเมินซ่อม สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนที่ไม่ผ่านการประเมินรายวิชา เข้ารับการประเมินซ่อม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ( หมายถึงประเมินซ่อมได้หลายวิธี ) เช่น การทดสอบ หรือการมอบหมายให้ทำรายงานเพิ่มเติม หรือการจัดทำแฟ้มสะสมงาน หรือการเข้าร่วมกิจกรรม หรืออื่น ๆ ตามที่สถานศึกษากำหนด โดยให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน 1”
- หน้า 44 ข้อ 6) กำหนดว่า “การประเมินซ่อม ผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินซ่อมคือ ผู้เรียนที่เข้าสอบปลายภาคเรียนแต่ผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลรายวิชา โดยให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินซ่อมตามวัน เวลา สถานที่ และวิธี ที่สถานศึกษาหรือต้นสังกัดกำหนด”
ข. หนังสือราชการ สำนักงาน กศน. แจ้งเมื่อ ม.ค.52 กำหนดในข้อ 3 ว่า “การสอบซ่อม ให้สถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แต่จะต้องมีกระบวนการและการดำเนินงานให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด โดยให้ดำเนินการซ่อมให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์”
.
สรุปคือ
1) สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนที่ไม่ผ่านการประเมินรายวิชา เข้ารับการประเมินซ่อม การไม่ผ่านการประเมินรายวิชา ปัจจุบันมี 2 กรณี ได้แก่
- คะแนนรวมระหว่างภาคกับปลายภาคไม่ถึง 50 คะแนน
- คะแนนปลายภาคไม่ถึง 12 คะแนน ( เฉพาะวิชาบังคับ ส่วนวิชาเลือกสถานศึกษาจะกำหนดอย่างไรหรือไม่ก็ได้ )
ให้ประเมินซ่อมเหมือนกันทั้ง 2 กรณีนี้ ( นศ.ที่ไม่เข้าสอบปลายภาค ต้องได้เกรด 0 ไม่มีสิทธิประเมินซ่อม )
2) การประเมินซ่อม ( ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก ) ทำได้หลายวิธี เช่น การสอบซ่อม หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ ก็ได้ แต่ให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด คือ ถ้าเป็นรายวิชาเดียวกัน ให้ประเมินซ่อมด้วยวิธีเดียวกันทั้งจังหวัด ถ้าจะใช้วิธีสอบซ่อม ก็ใช้ข้อสอบฉบับเดียวกัน จะเป็นข้อสอบปรนัย หรืออัตนัย หรือผสม ก็ได้
3) การประเมินซ่อม เป็นการเปลี่ยนคะแนนปลายภาค ( คะแนนปลายภาคเดิม ไม่ว่าจะได้เท่าไรก็ตัดทิ้งไปเลย ใช้คะแนนการประเมินซ่อมแทน ) ส่วนคะแนนระหว่างภาคจะเป็นไปตามเดิม การประเมินซ่อมจะมีคะแนนเต็ม 40 คะแนน ไม่จำเป็นต้องได้ 12 คะแนนอีกแล้ว แต่ต้องรวมกับคะแนนระหว่างภาคเดิมแล้วได้ 50 คะแนนขึ้นไป จึงจะได้เกรด 1 ถ้ารวมกับคะแนนระหว่างภาคเดิมแล้วได้ไม่ถึง 50 คะแนน ก็ได้เกรด 0
( เมื่อไม่จำเป็นต้องได้ถึง 12 คะแนน อาจทำให้ นศ.ที่มีคะแนนระหว่างภาคถึง 50 คะแนนอยู่แล้ว ไม่ตั้งใจทำข้อสอบประเมินซ่อม เพราะได้ 0 คะแนนก็ผ่าน ได้เกรด 1 บางสถานศึกษาจึงกำหนดว่า การประเมินซ่อมต้องได้อย่างน้อย 5 คะแนน ซึ่งก็สามารถกำหนดได้ ) ถ้าได้คะแนนระหว่างภาค 30 คะแนน การประเมินซ่อมต้องได้อย่างน้อย 20 คะแนนจากคะแนนเต็ม 40 จึงจะได้เกรด 1 ถ้าได้ต่ำกว่า 20 คะแนนก็ได้เกรด 0
4) เคยมีผู้เสนอว่า ถ้าคะแนนระหว่างภาคต่ำ โอกาสที่ประเมินซ่อมแล้วผ่านจะมีน้อย ควรให้ทำโครงงานเพิ่มคะแนนระหว่างภาค โดยแก้คะแนนเก็บที่โปรแกรม IT ด้วย เพื่อให้รวมกับคะแนนซ่อมแล้วได้ 50 เป็นการช่วย นศ.อีกทางหนึ่ง เรื่องนี้ ไม่มีระเบียบให้ซ่อมคะแนนระหว่างภาค ถ้าจะเพิ่มคะแนนระหว่างภาคก็เป็นเรื่องภายในสถานศึกษา ซึ่งที่ถูกที่ควรการให้ทำโครงงานหรือทำอะไรเพื่อจะได้เพิ่มคะแนนระหว่างภาค ต้องดำเนินการก่อนที่จะบันทึกคะแนนระหว่างภาค
5) มีผู้ถามว่า จะกำหนดให้ครู ให้คะแนนระหว่างภาคไม่ต่ำกว่า 38 คะแนน ได้หรือไม่ เรื่องนี้ คะแนนไม่ได้เป็นไปตามที่ครูให้ แต่คะแนนต้องเป็นไปตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ถ้าเรากำหนดเพื่อช่วยมากไป นศ.จะเห็นว่า ยังไง ๆ ก็จบทุกคนพร้อมกันหมด ส่งผลให้ มีนักศึกษามาพบกลุ่ม/ตั้งใจเรียนรู้ จำนวนลดลงทุกปี
.
กรณีการคีย์คะแนนประเมินซ่อมในโปรแกรม ITw ถ้าคีย์คะแนนประเมินซ่อมแล้วไม่มีเกรดขึ้นมา ก็คือ เกรดเป็น 0 ( จะไม่ปรากฏในใบ รบ. ) โดยถ้าคะแนนระหว่างภาค รวมกับคะแนนสอบซ่อม ไม่ถึง 50 จะไม่มีเกรดขึ้นมา ( เกรดเป็น 0 ) ถ้าขาดสอบซ่อม ก็ไม่ต้องคีย์ข้อมูลใดลงไป ปล่อยว่างไว้ ( อย่าใส่ 0 ถ้าใส่ 0 หมายความว่าเข้าสอบซ่อมแต่ได้คะแนน 0 จะได้เกรด 1 ) ถ้าปล่อยว่างไว้จะไม่มีเกรดขึ้นมา ( เกรดไม่ขึ้นก็คือเกรดเป็น 0 เช่นกัน ) ถ้าสถานศึกษาใดกำหนดว่าการประเมินซ่อมต้องได้คะแนน 5 คะแนนขึ้นไป แล้วมี นศ.ได้คะแนนประเมินซ่อมไม่ถึง 5 คะแนน ก็ไม่ต้องคีย์คะแนนประเมินซ่อมของ นศ.รายนี้ ให้ปล่อยว่างไว้