สิทธิข้าราชการเกษียณ

รวมสิทธิของข้าราชการเกษียณ ( ค่อนข้างละเอียด ) ...
( ถ้าเลือกรับบำเหน็จ สิทธิต่างๆจะระงับไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล เหลือเพียงสิทธิเดียว คือ การขอพระราชทานเพลิงศพ )

กลุ่ม ผู้ไม่เป็นสมาชิก กบข.
ก): กรณีรับบำเหน็จ 
จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนเดียว [ เงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ(รวมอายุราชการทวีคูณ) ] 
สิทธิต่าง ๆ ระงับไป ยกเว้นการขอพระราชทานเพลิงศพ 

ข): กรณีรับบำนาญ 
จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต [ บำนาญรายเดือน = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการเป็นปี (รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเกิน 6 เดือนจึงนับเป็น 1 ปี) แล้วหารด้วย 50 ]
และยังมีสิทธิได้รับ 
     1)  ค่ารักษาพยาบาลของตนเอง คู่สมรส บิดามารดา บุตรที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และบุตรไร้ความสามารถไม่จำกัดอายุ  
     2)  ค่าตรวจสุขภาพ
     3)  ค่าการศึกษาบุตร เบิกได้ถึงอายุ 25 ปีบริบูรณ์ 
     4)  บำเหน็จดำรงชีพ ( เงินเพิ่มให้พิเศษ ) = 15 เท่า ของเงินบำนาญ 1 เดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดยจ่ายให้ทันทีเมื่อเกษียณครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนที่เหลือขอรับได้เมื่ออายุครบ 65 ปี
     5) เงินช่วยพิเศษ เมื่อถึงแก่กรรม = 3 เท่า ของเงินบำนาญ ( มอบให้กับผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ หรือทายาทตามกฎหมาย )
     6) เงินบำเหน็จตกทอด เมื่อถึงแก่กรรม เป็นเงินก้อนเดียว = เงินบำนาญ x 30 เท่า – เงินบำเหน็จดำรงชีพที่รับไปแล้ว ( มอบให้กับทายาทตามกฎหมาย ถ้าไม่มีทายาทมอบให้ผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ ถ้าไม่มีทายาทและไม่ได้แสดงเจตนาไว้ เป็นอันยุติบำนาญตกทอด ) 

กลุ่ม ผู้เป็นสมาชิก กบข. 
ก): กรณีรับบำเหน็จ 
จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนเดียว [ เงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย  x อายุราชการ (รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเดือนเศษวันเป็นจุดทศนิยม) ] 
สิทธิต่าง ๆ ระงับไป ยกเว้นการขอพระราชทานเพลิงศพ

ข): กรณีรับบำนาญ 
จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต [ บำนาญรายเดือน = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ(รวมอายุราชการทวีคูณ เศษเดือนเศษวันเป็นจุดทศนิยม) รวมไม่เกิน 35 ปี แล้วหารด้วย 50 ]  แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
และยังมีสิทธิได้รับสิทธิต่าง ๆ เหมือนกับบำนาญปกติ 
นอกจากนี้ สมาชิก กบข.แบบ ก.,ข. ยังได้รับ 
- เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสะสม 
- เงินประเดิม + ผลประโยชน์ของเงินประเดิม 
- เงินชดเชย + ผลประโยชน์ของเงินชดเชย 
- เงินสมทบ + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ 
( ผู้ที่ลาออกจาก กบข.จะได้เฉพาะเงินสะสม+ผลประโยชน์ของเงินสะสม คืน )

หมายเหต

ก. ผู้ที่ได้รับบำเหน็จตกทอด คือผู้ที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ หรือทายาทตามกฎหมาย  คำว่า ทายาทตามกฎหมาย ได้แก่ 
- บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับคนละ 1 ส่วน 
- สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับ 1 ส่วน 
- บิดา หรือมารดา หรือทั้งบิดาและมารดา ที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับ 1 ส่วน 

ข. เงินอื่น ๆ ที่ทุกกลุ่มจะได้รับ ถ้าสมัครเป็นสมาชิก
- เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 
- เงินผลประโยชน์จากหุ้นสหกรณ์ 
- เงินประกันชีวิตและเงินช่วยเหลือจากสหกรณ์ 

ค. เวลาราชการทวีคูณ ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร 2 ช่วงล่าสุด รวม 15 เดือน 18 วัน ( ช่วงที่ 1 วันที่ 19 ก.ย.49 – 26 ม.ค.50 = 4 เดือน 11 วัน ,  ช่วงที่ 2 วันที่ 20 พ.ค.57 – 1 เม.ย.58 = 11 เดือน 7 วัน ) นั้น ได้เวลาราชการทวีคูณเฉพาะทหารตำรวจ ส่วนข้าราชการอื่นไม่ได้ เพราะไม่ได้เสี่ยงภัย

สำนักงาน กศน. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เอกชัย ยุติศรี

Popular Posts

จำนวนผู้เข้าอ่านข่าว