ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยศูนย์การเรียนชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๒

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยศูนย์การเรียนชุมชน
พ.ศ. ๒๕๕๒

เพื่อ ให้การดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชน มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชน มุ่งสร้างโอกาส และให้บริการการเรียนรู้อย่างหลากหลายวิธี สนองตอบความต้องการ และเสนอทางเลือกในการพัฒนาตนเองอันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยยึดหลักการชุมชนเป็นรากฐานของการพัฒนา

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ กระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดระเบียบว่าด้วยศูนย์การเรียนชุมชน ไว้ดังนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า ?ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยศูนย์การเรียนชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๒?

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
บรรดา ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หลักเกณฑ์หรือข้อตกลงอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
?หมู่ บ้าน? หมายความว่า บ้านหลายบ้านที่อยู่รวมกันในท้องถิ่นอันหนึ่งและอยู่ในความปกครองเดียวกัน ถ้ามีจำนวนบ้านน้อยให้ถือเอาจำนวนคนประมาณสองร้อยคนเป็นหนึ่งหมู่บ้านถ้ามี การตั้งบ้านเรือนห่างไกลกันถึงจำนวนจะน้อยถ้าบ้านไม่ต่ำกว่าห้าบ้านจะจัด เป็นหนึ่งหมู่บ้าน
?ตำบล? หมายความว่า ตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ที่อยู่นอกเขตหน่วยการบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่น และในกรณีที่ตำบลใดมีพื้นที่อยู่ทั้งในและนอกเขตหน่วยการบริหารราชการส่วน ท้องถิ่นให้หมายความถึงเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตหน่วยการบริหารราชการส่วน ท้องถิ่น
?ชุมชน? หมายความว่า หมู่บ้าน หรือชุมชนในเขตเทศบาล หรือกรุงเทพมหานคร
?ศูนย์ การเรียนรู้ชุมชน? หมายความว่า ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ การถ่ายทอด และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิทยาการตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน
?ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล? หมายความว่า ศูนย์การเรียนชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสาน งานกับศูนย์การเรียนชุมชนและหน่วยงานหรือองค์กรหรือกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในตำบล

ข้อ ๔ ศูนย์การเรียนชุมชน จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์
(๑) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอด ชีวิต
(๒) เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน
(๓) เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้สำหรับประชาชนในชุมชน
(๔) เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และจัดการศึกษาให้กับชุมชนเอง

ข้อ ๕ การจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชน
ศูนย์ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหรือเขตแล้วแต่กรณี การประกาศจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชน ให้พิจารณาถึงความพร้อมและความเหมาะสมของสถานที่ การมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การคาดประมาณผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งศูนย์การเรียนชุมชนนั้นตั้งอยู่
ในตำบลหนึ่ง ๆ อาจจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนได้มากกว่าหนึ่งแห่ง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงพื้นที่การให้บริการที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน
ศูนย์ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหรือเขตคัดเลือกศูนย์การเรียน ชุมชนหนึ่งแห่ง โดยความเห็นชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัยในตำบล
การจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและ การศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหรือเขต จัดทำเป็นประกาศของสถานศึกษา ส่วนการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบลให้จัดทำเป็นประกาศของจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจลงนามในประกาศจัดตั้ง

ข้อ ๖ การยุบเลิกศูนย์การเรียนชุมชน
(๑) ศูนย์การเรียนชุมชน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการศูนย์การเรียนชุมชนโดยจัดทำเป็นประกาศของสถานศึกษา
(๒) ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล โดยจัดทำเป็นประกาศของจังหวัด

ข้อ ๗ ศูนย์การเรียนชุมชนจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนี้
(๑) ส่งเสริมและจัดการศึกษาพื้นฐาน
(๒) ส่งเสริมและจัดการศึกษาต่อเนื่อง
(๓) ส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
(๔) ส่งเสริมกิจกรรม และกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน

ข้อ ๘ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหรือเขตแล้วแต่กรณีต้อง จัดให้มีครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนเพื่อปฏิบัติงานประจำหนึ่งคน

ข้อ ๙ ศูนย์การเรียนชุมชนต้องจัดให้มีคณะกรรมการ ดังนี้
(๑) ศูนย์การเรียนชุมชน ประกอบด้วยผู้แทนในชุมชนนั้น ๆ จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน โดยให้เลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
(๒) ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล ประกอบด้วยผู้แทนในชุมชนนั้น ๆ จำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคน โดยให้เลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และมีครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ
วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการตามข้อ ๙ (๑) และ (๒) คราวละสี่ปี นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
คณะกรรมการศูนย์การเรียนชุมชน ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้แต่งตั้ง
คณะกรรมการศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง

ข้อ ๑๐ คณะกรรมการศูนย์การเรียนชุมชนมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) วางแผนการดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชน
(๒) จัดประชาสัมพันธ์งานศูนย์การเรียนชุมชน
(๓) จัดหาวัสดุ อุปกรณ์และครุภัณฑ์พื้นฐานให้กับศูนย์การเรียนชุมชน
(๔) บริหารและจัดกิจกรรมในศูนย์การเรียนชุมชน
(๕) กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชน

ข้อ ๑๑ คณะกรรมการศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบลมีหน้าที่ตามข้อ ๑๐ และยังมีหน้าที่เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
(๑) ประสานงานและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกับศูนย์การเรียนชุมชนแห่งอื่น ๆ ในตำบล
(๒) ประสานกับส่วนราชการในตำบลและเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน
(๓) ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อนำแผนชุมชนในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมาปฏิบัติ

ข้อ ๑๒ ศูนย์การเรียนชุมชนต้องมีอาคาร สถานที่ที่ชัดเจนและเหมาะสมกับชุมชน

ข้อ ๑๓ ศูนย์การเรียนชุมชนจัดให้มีสื่อ วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่จำเป็นพื้นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน

ข้อ ๑๔ เกณฑ์มาตรฐาน การพัฒนา การประเมินมาตรฐานและแนวทางการดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชน ให้เป็นไปตามที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กำหนด

ข้อ ๑๕ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหรือเขตอาจจัดตั้งศูนย์ การเรียนชุมชนขึ้นในสถานประกอบการ ศาสนสถาน หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ตลอดจนบ้านของภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกก็ได้ ทั้งนี้ โดยใช้หลักเกณฑ์การดำเนินงานตามระเบียบนี้โดยอนุโลม

ข้อ ๑๖ ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

Popular Posts

จำนวนผู้เข้าอ่านข่าว